การทักทาย (Greeting)

ประเทศญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีขนบธรรมเนียมและวัฒนธรรมที่สืบทอดและปฏิบัติกันมาอย่างยาวนาน สิ่งที่ควรคำนึงอย่างแรกๆ เลยก็คือ เรื่องมารยาท และการใช้ชีวิตประจำวันที่มีข้อควรปฏิบัติ อย่างเช่น เรื่องของการทำงาน วัฒนธรรมขององค์กร หรือตัวบุคคลเองก็จะมีความทุ่มเทกับงานอย่างเต็มที่ และจะเป็นคนที่รักษาเวลา ตรงต่อเวลาอย่างมาก คนญี่ปุ่นจะมีการแสดงความเคารพ เช่น การทักทายพูดจา การโค้งคำนับเมื่อเจอกันหรือการบอกลาที่แตกต่างจากวัฒนธรรมอื่นๆ คนไทยจะใช้การไหว้ คนฝรั่งจะใช้การจับมือ เป็นต้น 

มารยาทในการโค้งคำนับของคนญี่ปุ่น


การโค้งคำนับของชาวญี่ปุ่น เป็นมารยาทที่น่ารู้สําหรับคนไทยมาก ซึ่งถ้าคนไทยอย่างเราทําได้ถูกต้อง ก็เป็นมายาทที่น่ามอง และสําหรับคนญี่ปุ่นเองก็คงมีความชื่นชมในตัวของพวกเราด้วย หลายๆคนที่มีโอกาสได้เคยพบปะกับคนญี่ปุ่น ได้มีโอกาสทำงานกับคนญี่ปุ่น หรือมีโอกาสได้ไปที่ประเทศญี่ปุ่น คงจะเคยเห็นว่า การโค้งคำนับของชาวญี่ปุ่นนั้น เป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ และอยู่คู่กับสังคมญี่ปุ่นมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

การโค้งในภาษาญี่ปุ่น เรียกว่า "Rei" (礼) หรือ "Ojigi" (お辞儀) ชาวญี่ปุ่นไม่นิยมไหว้แบบคนไทย หรือจับมือแบบฝรั่ง แต่จะนิยมโค้งแทนในเวลาที่พบหรือลา ประเพณีการโค้งของคนญี่ปุ่นนับว่าซับซ้อนพอควร เช่น การโค้งควรจะต่ำเพียงไรและโค้งได้นานเท่าไร หรือโค้งเป็นจำนวนกี่ครั้ง และโค้งในโอกาสอะไร เช่น ผู้อาวุโสก้มให้ลึก แต่ถ้าระดับเท่ากันโค้งพองาม นอกจากโค้งเวลาพบกันหรืออำลาจากกันแล้ว สามารถโค้งเมื่อต้องการขอบคุณ


สิ่งที่ควรปฏิบัติขณะที่โค้งคำนับ

1.ในขณะที่คำนับ ต้องหยุดอยู่กับที่แล้วค่อยคำนับ

2.หากมีคำพูด ให้พูดให้จบแล้วค่อยคำนับ

3.การพูด ต้องพูดให้เสียงดังชัดเจน ไม่พูดอยู่ในลำคอ

การโค้งคำนับแบบยืนแบ่งออกเป็น 3 ระดับ ได้แก่

- การโค้งคำนับแบบ 15 องศา หรือที่เรียกว่า 会釈 (Eshaku)

ใช้เมื่อเดินผ่านผู้ร่วมงานหรือผู้อื่น เป็นการทักทายแบบสั้นๆ หรือในกรณีที่เสิร์ฟน้ำชาให้กับลูกค้า ให้โคงคำนับเมื่อใกล้ถึงโต๊ะ

- การโค้งคำนับแบบ 30 องศา หรือที่เรียกว่า 敬礼(Keirei)

เป็นการโค้งแบบเป็นพิธีการกว่าแบบแรก ใช้เมื่อพบเจ้านาย หัวหน้างาน หรือลูกค้า รวมถึงกรณีออกไปพบลูกค้านอกบริษัท เวลาคำนับ ให้ลำตัวตรงตั้งแต่ศีรษะถึงเอว

- การโค้งคำนับแบบ 45 องศา หรือที่เรียกว่า 最敬礼 (Saikeirei)

เป็นการโค้งทำความเคารพอย่างนอบน้อม แสดงความเคารพอย่างสูง ใช้เคารพเวลามีงานพิธีสำคัญๆ ต่างๆ เช่นงานแต่งงาน งานศพ ใช้ในการขอบคุณผู้มีอุปการะคุณ และการขอโทษ เช่น ทำงานผิดพลาด โดยให้โค้งค้างไว้ 2 วินาที

สวัสดีตอนเช้า (おはようございます)

"โอะฮาโยโกะไซมัส" ใช้ได้ตั้งแต่ช่วงเช้าจนถึงสายๆ ก่อนเที่ยง ถ้าพูดกับเพื่อนหรือคนที่สนิทกันก็จะพูดสั้นๆ ว่า おはよう / โอฮาโย 

สวัสดีตอนกลางวัน (こんにちは) 

"คนนิจิวะ" ใช้ได้ตั้งแต่ช่วงเกือบเที่ยงถึงบ่ายๆ เย็นๆ 

สวัสดีตอนกลางคืน (こんばんは)  

"คมบังวะ" ใช้ได้ตั้งแต่ช่วงเย็นถึงกลางคืน

อันที่จริงก็ไม่ได้มีกฏตายตัวแน่นอนว่าแต่ละคำจะใช้ได้ระหว่างกี่โมงถึงกี่โมงขนาดนั้น เรียกว่าเอาตามความรู้สึกของคนพูดเสียมากกว่า แต่ไม่ใช่ว่าตอนนี้ 6 โมงเย็นแล้วพูดว่า "โอฮาโย" นะ

บางทีเวลาเราไปเจอหน้าเพื่อนที่โรงเรียนหรือคนที่บริษัทเป็นครั้งแรกของวันนั้น ถึงตอนนั้นจะเที่ยงแล้วแต่ยังพูดว่า "โอฮาโย" ก็มี เพราะถือว่าเพิ่งเจอหน้ากัน ><"

ขอโทษครับ/ค่ะ (すみません)  

"สุมิมะเซน" ใช้เมื่อทำงานผิดพลาดเล็กน้อยหรือขาดงาน และเวลาจะรบกวน สอบถาม ขอความช่วยเหลือเล็กน้อยจากผู้อื่น (เหมือน Excuse me ของชาวฝรั่ง) แต่ในบางครั้งเราจะได้ยินคนญี่ปุ่นใช้แทนคำขอบคุณเช่นกัน เช่น เก็บของตกให้ เปิดประตูให้ (ขอโทษที่ทำให้คุณเสียเวลามาทำให้) 

ขอโทษครับ/ค่ะที่มาสาย (おくれて、すみません)

"โอะคุเระเตะ สุมิมาเซน" ใช้เมื่อมาทำงานสายหรือเข้าเรียนสาย ซึ่งในการขอโทษ "สุมิมาเซน" จะเป็นคำที่ใช้อย่างเป็นทางการกว่า "โกะเม็นนะไซ"

ขอโทษ, ขออนุญาต  (しつれいします)

"ชิทสึเรชิมัส" ใช้พูดเมื่อเราขออนุญาตจะทำอะไรบางอย่าง เช่น เมื่อเดินเข้าห้องเรียนหรือขึ้นรถของคนอื่น

ขอตัวก่อนนะคะ/ครับ  (おさきにしつれいします) 

"โอะสะคินิ ชิทสึเรชิมัส" คำนี้เอาไว้ใช้เวลาเราจะกลับก่อน แต่ยังมีคนอื่นทำงานอยู่ เราก็บอกไปว่า ขอเสียมารยาทกลับก่อนนะ พอเราพูดไปคนอื่นก็จะตอบกลับมาว่า お疲れ様です / โอสึกาเรซามาเดส 

ขอบคุณค่ะ/ครับ (ありがとうございます) 

"อะริงาโตะ โกะไซมัส" ประโยคพูดขอบคุณที่พื้นฐานที่สุด ถ้าพูดกับคนในครอบครัว เพื่อน คนที่มีอายุเท่ากัน หรือคนที่มีอายุน้อยกว่าก็จะพูดสั้นๆ ว่า ありがとう / อาริกาโต แต่ถ้าพูดกับคนที่มีอายุมากกว่าหรือหัวหน้างานต้องพูดเต็มๆ เป็นสำนวนแบบสุภาพ 

ขอบคุณที่เหน็ดเหนื่อยมาด้วยกัน (おつかれさまでした)

"โอะซึคาเระ สามะ เดชิตะ" ประโยคนี้ถือเป็นประโยคเฉพาะตัวของญี่ปุ่น แปลเป็นไทยแล้วอาจจะรู้สึกแปลกๆ ความหมายก็ประมาณว่า ทำงานมาเหนื่อยเลยนะ มักจะได้ยินตามมหาวิทยาลัยและที่ทำงานเป็นส่วนมาก ใช้ได้ในหลายกรณีเช่น เดินสวนกับเพื่อน-อาจารย์ในมหาวิทยาลัย หรือคนในบริษัทก็พูดได้ ส่วนตัวรู้สึกว่าเป็นคำที่มีประโยชน์มากเหมือนเป็นคำทักทายแก้เขิน ไม่งั้นเดินสวนกันก็ไม่รู้จะพูดหรือทักอะไรดี เอาไว้ใช้เวลาจะลากันก็ได้